Thursday, March 23, 2006

พระราชวังจตุมุขมงคล( Chatumukmongkol Palace)





พระราชวัง "จตุมุขมงคล" กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
การมาเที่ยวประเทศกัมพูชาของนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจในปัจจุบันก็จะรู้จักแค่ 2 เมือง คือเมืองหลวงพนมเปนกับเมืองเสียมเรียบ หรือเมืองเสียมราษฎร์ ในภาษาไทย เมืองที่ชาวโลกรู้จักเพราะมีมหาปราสาทนครวัด-นครธม
การมาพนมเปนในครั้งนี้ก็ไม่มีข้อมูลจำเพาะว่าจะไปชมอะไรบ้างหรือมีอะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษ แต่พอมาถึงแล้วโดยที่เจ้าของถิ่นเป็นคนแนะนำสิ่งที่สำคัญและเชิดหน้าชูตาของชาวเขมรมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้ว หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Silver Pagoda กรุงพนมเปนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงที่เรียกว่าจตุมุข เพราะมีแม่น้ำสามสายใหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำโขง แม่น้ำต้นทะเลสาบ และแม่น้ำบาสสัก (Bussac) และแยกสาขาเป็นเหมือนแขน 4 แขน หรือพรหม 4 หน้า ในเมืองพนมเปนนี้จึงเป็นศูนย์รวมของสถานที่ทางโบราณสถาน พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์ ตลอดถึงสถานที่ราชการ รวมทั้งเป็นแหล่งธุรกิจและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเพราะมีสนามบินนานาชาติด้วย ส่วนที่พักก็มีตั้งแต่โรงแรมระดับ 5 ดาวไปจนถึงห้องพักชั่วคราว (guest house) ราคาถูก ๆ ที่กินที่เที่ยวก็มีร้านอาหารนานาชาติมากมายโดยเฉพาะบนถนนสีสวาท ถือว่าเป็นถนนสายหลักหน้าเมืองเลียบฝั่งแม่น้ำโขง (the riverfront Road) จะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองและนักท่องเที่ยวอย่างหนาแน่นทุก ๆ วัน
พระบรมมหาราชวังจตุมุขมงคล ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 500 เมตร ก็จะเดินถึงกำแพงพระราชวังซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่ของแม่น้ำที่ไหลมารวมกันตรงนี้เรียกว่า “จตุมุข” เป็นที่ตั้งเมืองหลวงใกล้แม่น้ำสำคัญเพราะง่ายต่อการสัญจรไปมาติดต่อสัมพันธ์ในการค้าขายและประชากรได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการยังชีพเพราะฉะนั้นสายน้ำจึงเหมือนสายโลหิตของประชากร
พระราชวังหลวงตั้งอยู่บนถนน Sothearos Blvd. สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1866 ในสมัยกษัตริย์นโรดม เมื่อมองจากด้านนอกกำแพงสูงประมาณ 3 เมตรจะเห็นยอดปราสาทราชมณเฑียรต่าง ๆ สูงเสียดฟ้า บางยอดก็จะเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า บนยอดมหามณเฑียร ศิลปะและสถาปัตยกรรมก็ไม่ต่างจากของประเทศไทยมากนักเป็นศิลปะร่วมสมัยกรุงรัตน์โกสินทร์ของไทย ภายในกำแพงมหาราชวัง มีมหาปราสาท ราชมณเฑียรหลายหลัง เช่น
มหาปราสาทเทวีวินิฉัย เป็นที่ตั้งพระราชอาสน์เป็นที่ประกอบพิธีราชาภิเษก หรือสถาปนาพระราชวงศ์
ปราสาทเขมรินทร์ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
ปราสาทสำราญภิรมย์ เป็นที่พระมหากษัตริย์ทรงช้างต้นเลียบพระนครหรือในพิธีสำคัญ ๆ
หอพระขรรค์ เป็นที่เก็บศัตราวุธ เครื่องกกุธภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีต่าง ๆ
พระที่นั่งมไหสวรรค์ เป็นโรงละครใน และที่หน้าพระที่นั่งนี้จะเป็นที่ออกพบข้าราชบริพารและประชาชนในโอกาสสำคัญ ๆ
ธรรมเนียมการสร้างวัดไว้ในวังของประเทศเขมรก็ไม่ต่างจากประเทศไทย ซึ่งไทยก็ถือธรรมเนียมนี้มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อสร้างวังแล้วต้องมีวัดในพระราชวังไว้เพื่อประกอบพิธีและให้พระมหากษัตริย์ได้ประกอบพิธีบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลตามหลักของพุทธศาสนา ภายในวังจตุมุขมงคลก็มีวัดเหมือนกันคือวัดพระแก้วมรกต (The Silver Pagoda) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่าวัดอุโบสถรัตนารามเป็นที่พระมหากษัตริย์ทรงสวดมนต์ภาวนาหรือจำศีลอุโบสถในวันพระ และประกอบพิธีสำคัญในทางพระพุทธศาสนาแก่ข้าราชการ
วัดพระแก้วมรกตนี้จะไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาประจำนอกจากตอนที่เจ้านโรดมสีหนุได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1947 พระองค์ได้ประทับที่วัดพระแก้วนี้จนลาผนวช ปัจจุบันก็คงเรียกชื่อว่าพระวิหารพระแก้ว(เพราะไม่มีพระจำพรรษาจึงไม่เรียกวัด) นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุก ๆ วัน
พระวิหารพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1892-1902 ในสมัยพระเจ้านโรดม ซึ่งสร้างด้วยอิฐและไม้ตามแบบของศิลปะ สถาปัตยกรรมเขมร ต่อมาหอพระแก้วได้รับความเสียหาย จึงได้สร้างขึ้นใหม่โดยพระราชมารดาของเจ้านโรดมสีหนุ ซึ่งขณะนั้นเป็นพระมหากษัตริย์หนุ่มปกครองประเทศใหม่ ๆ การก่อสร้างได้เริ่มในปี ค.ศ.1962 ในรูปแบบ และสถาปัตยกรรมแบบเดิม แต่ได้สั่งให้ช่างตีแผ่นเงินน้ำหนักแผ่นละ 1.125 กิโลกรัม ปูพื้นอุโบสถทั้งหมดจำนวน 5,392 แผ่น วิหารพระแก้วมรกตจึงได้นามใหม่ว่า Silver Pagoda (วิหารเงิน) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
โบราณวัตถุล้ำค้าที่ใส่ไว้ในตู้กระจกให้นักท่องเที่ยวได้ชมในปัจจุบันนี้มีจำนวน 1,650 ชิ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดต่าง ๆ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปสำริดและพระพุทธรูปแก้วมณีที่มีค่ารวมทั้งเครื่องถนิมทิพพาภรณ์ของพระมหากษัตริย์ที่ถอดถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งก็มีทั้งแก้วแหวนเงินทองรัตนชาติอัญมณีที่มีค่ามากมาย
สิ่งที่สำคัญที่สุดภายในพระอุโบสถนี้ก็คือพระแก้วมรกต ซึ่งสร้างขึ้นด้วยมรกตชิ้นเดียว แต่องค์เล็กกว่าพระแก้วมรกตของไทย รูปองค์สร้างเหมือนกันคือประดิษฐานอยู่ภายใต้มณฑปทองคำ และเครื่องทรงองค์พระเป็นทองคำล้วนประดับด้วยเพชรเม็ดใหญ่ และอัญมณีอันมีค่า
ที่หน้ามณฑปพระแก้วมรกตประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามญาติสร้างด้วยทองคำน้ำหนัก 90 Kg และประดับด้วยเพชรจำนวน 2,086 เม็ด เม็ดที่ใหญ่ที่สุดบนยอดมงกุฏขนาด 25 ม.ม. พระพุทธรูปนี้หล่อขึ้นในสมัยกษัตริย์สีสวาท ในปี ค.ศ.1904 โดยการตรัสสั่งไว้ของพระราชบิดาคือพระเจ้านโรดม หลังจากที่พระราชทานเพลิงศพของพระองค์แล้วให้หลอมพระโกศทองคำ หล่อเป็นพระศรีอริยเมตไตรทรงเครื่องต้นพระพุทธรูปองค์นี้จึงได้นามว่า “พระชินรังษีราชิกนโรดม”
นอกจากพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์นี้แล้วยังมีพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากศรีลังกาในปี ค.ศ.1956 โดยสมเด็จพระสังฆราช Lvea Em และมีพระพุทธรูปทองคำนาคปรก สร้างด้วยโดยสมเด็จพระราชินีนารีรัตน์ พระมารดาของเจ้านโรดมสีหนุในปี ค.ศ.1969
รอบกำแพงชั้นนอกของหอพระแก้วมรกตจะมีระเบียงแบบวิหารคตวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ คือจะมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาฝนังที่สวยงามเล่าเรื่องรามเกียรติ์หรือภาษาเขมรเรียกว่า Reamke โดยออกญาเทพนิมิตรพร้อมด้วย 40 ศิลปินชาวเขมรช่วยกันเขียนภาพด้วยสีน้ำมันความยาว 642 เมตร ความสูง 3 เมตร เริ่มจากผนังด้านทิศใต้เรื่อยไปจนถึงผนังด้านทิศตะวันออก ซึ่งผู้เข้าชมจะต้องเดินชมภาพเหล่านี้ไปตามลำดับจนสุดกำแพง
ด้านทิศใต้ของหอพระแก้วก็จะมีปราสาทหินนครวัดจำลองตั้งไว้ให้คนชมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเหมือนวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ ทุกประการ นอกจากนี้แล้วในบริเวณวัดพระแก้วก็จะมีหอมณเฑียรธรรมที่ฟังธรรมของพระมหากษัตริย์อยู่ทางทิศใต้และสถูปที่บรรจุอัฐิของกษัตริย์นักองค์ด้วง และกษัตริย์นโรดม ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเจ้านโรดมสีหนุในปัจจุบัน
มีหอพระบาทที่ประทับรอยของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ที่ตรัสรู้ไปแล้วคือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ โกนาคมโณ กัสสโป และโคตโม อยู่ทางทิศตะวันออกของโบสถ์พระแก้ว
ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเป็นหอระฆังสมัยก่อนใช้ให้สัญญาณระฆังเวลาพระสงฆ์เรียนบาลีที่วิหารคตและให้สัญญาณพระลงสวดมนต์และในพิธีสำคัญ ๆ ต่อมาได้ประดิษฐานรูปสำเริดโคนนทิ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป ในหอระฆังนี้ยังบรรจุตู้พระธรรมซึ่งมีพร้อมทั้งสามปิฎก คือพระสูตร พระวินัยและพระอภิธรรม ทั้งหมดจารึกอยู่ในใบลานเก่าแก่บรรจุหีบห่อเก็บรักษาไว้อยางดี
เดิมชมวัดพระแก้วทุกซอกทุกมุมแล้วได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกจากนั้นเดินออกประตูด้านทิศตะวันออก จะพบต้นสาละลังกาต้นใหญ่ออกดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมตั้งแต่โคนต้นขึ้นไปถึงยอด ที่โคนต้นตั้งพระพุทธรูปหินแกะสลักปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นสาละอย่างลงตัว และอีกด้านหนึ่งเป็นหอมณฑปประดิษฐรูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (จำลอง) แบบนั่งสมาธิด้วยพระพักตร์อิ่มบุญและเปียบด้วยปิติสุขจากสมาธิ
พวกเราเดินชมนิทรรศการเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ของชาวเขมร การแต่งตัวในราชสำนักและสถาปัตยกรรมเขมรในยุคต่าง ๆ โดยใช้กำแพงวิหารคตด้านนอกของทิศตะวันออกจัดแสดงและอีกด้านเหนือเป็นร้านขายของที่ระลึกได้เข้าไปเดินชมเหมือนกันแต่ไม่ได้ซื้ออะไรนอกจากหนังสือประวัติพระราชวังจตุมุขมงคลที่น่าสนใจเพราะยังไม่เคยทราบประวัติของพระราชวังเขมรมาก่อน ก็เลยหยิบมาอ่านหาข้อมูลนำมาฝากท่านผู้อ่านด้วยประการฉะนี้ ฯ

No comments: